GAS!:กรดในน้ำอัดลมทำให้กระดูกผุ!?!

สาระสำคัญ: ภาวะกรดที่มีอยู่ในน้ำอัดลม ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน?!?
จริงหรือเต้า?


เต้า!

เป็นเวลาหลายปีแล้ว(ก่อนที่เวบไซต์นี้จะเกิด)ที่มีข่าวลือในโลกออนไลน์ ว่าการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ ทำให้กระดูกพรุนเพราะกรดในน้ำอัดลม ซึ่งต้นตอเกิดจากการอ้างผลการวิจัยแต่เพียงผิวเผินและเข้าใจผิด จากนั้นก็เอาไปลือกันต่อๆไปเรื่อยๆโดยไม่หาข้อมูลประกอบแต่อย่างใด
เช่นโพสหนึ่งในอินเตอร์เนต

กรดฟอสฟอริกที่มักใส่เข้าไปในเครื่องดื่มพวกโคลา ผลการศึกษารายงานว่าหากอัตราส่วนของฟอสฟอรัสต่อแคลเซียมมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากค่าฟอสฟอรัสสูงขึ้นจะทำให้กระดูกเสียหายตลอดเวลา
 ระดับแคลเซียมที่ต่ำสัมพันธ์กับโรคกระดูกพรุน ทำให้กระดูกบางลงมากเสี่ยงต่อการแตกหัก สมาพันธ์โรคกระดูกพรุนนานาชาติ รายงานว่า กว่าครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันโดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้น
โรคกระดูกพรุน คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูก ไม่สามารถจะรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการกระดูก หักตามมา

หรืออีกโพสหนึ่ง คราวนี้มีการอ้างผลการวิจัยด้วย ทำให้แอดมินเข้าไปดูรายละเอียดและต้องรีบนำมาเขียนบทความนี้เลยทีเดียว(จริงๆแล้วผมว่าโพสนี้เขียนวกไปวนมา เดี๋ยวบอกว่ามีผลการวิจัย เดี๋ยวบอกว่านักวิจัยยังไม่มีหลักฐาน เดี๋ยวบอกว่าควรหลีกเลี่ยงฯลฯ แต่ประเด็นคือเล่นตั้งหัวเรื่องไว้ว่า “เตือนสาวๆ ที่ชอบดื่มโคลาเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน” คือเหตุผลยังมึนๆอยู่เลยครับ แต่เที่ยวไปเตือนชาวบ้านแล้ว

เอเจนซี – เตือนสาวๆ ที่ชอบดื่มโคลาเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน นักวิจัยระบุสาเหตุอาจมาจากกรดฟอสฟอริกที่มีในน้ำดำ แต่ไม่พบในน้ำอัดลมส่วนใหญ่
ในการศึกษาประชากรวัยผู้ใหญ่กว่า 2,500 คน ดร.แคเทอรีน ทักเกอร์ (Dr. Katherine L. Tucker) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) ในบอสตัน สหรัฐฯ พบว่าผู้หญิงที่ดื่มโคลาทุกวันมีความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density – BMD) ในสะโพกน้อยกว่าผู้หญิงที่เดือนหนึ่งแทบไม่ได้ดื่มน้ำอัดลมประเภทน้ำดำนี้เลย 5%
“เนื่องจากบีเอ็มดีมีความเกี่ยวพันแน่นแฟ้นกับความเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหัก และเนื่องจากโคลาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อประเด็นสาธารณสุข” นักวิจัยระบุในรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารอเมริกัน เจอร์นัล ออฟ คลินิคัล นิวทริชัน (American Journal of Clinical Nutrition)
จากการศึกษาวัยรุ่นหญิงพบความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำกับการแตกหักของกระดูกและการลดลงของบีเอ็มดี กระนั้น นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุอาจมาจากวัยรุ่นเหล่านี้ดื่มนมน้อยลง หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของน้ำอัดลมเอง
เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ในประชากรวัยผู้ใหญ่ นักวิจัยได้วัดบีเอ็มดีในกระดูกสันหลังและสะโพกของอาสาสมัครหญิง 1,413 คน และอาสาสมัครชาย 1,125 คน อายุประมาณ 60 ปี ที่เข้าร่วมในโครงการศึกษาภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis)
ขณะที่ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างน้ำอัดลมโดยรวมกับบีเอ็มดี แต่นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่ดื่มโคลามากที่สุดมีบีเอ็มดีในสะโพกน้อยมาก และยิ่งดื่มน้ำอัดลมประเภทนี้มากเท่าไหร่ เนื้อกระดูกยิ่งลดลง และความเกี่ยวพันนี้ครอบคลุมทั้งโคลาปกติ โคลาปลอดคาเฟอีน และไดเอ็ตโคลา
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำอัดลมสีดำไม่ส่งผลต่อบีเอ็มดีในผู้ชาย
แม้ว่าผู้หญิงที่ดื่มโคลาเป็นประจำ ไม่ได้ดื่มนมน้อยลงเลย แต่บริโภคแคลเซียมน้อยลง ทำให้ได้ฟอสฟอรัสน้อยลงไปด้วย แม้ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงสาเหตุของเรื่องนี้ แต่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ในโคลามีกรดฟอสฟอริก (phosphoric acid) ซึ่งไม่พบในน้ำอัดลมส่วนใหญ่ และกรดนี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายขับแคลเซียมออกจากกระดูก

นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การดื่มน้ำอัดลม ซึ่งรวมถึงโคลา เป็นครั้งคราว ทำให้เนื้อกระดูกลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่กังวลกับภาวะกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยงการดื่มโคลาเป็นประจำ จนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมที่สามารถนำมาหักล้างการวิจัยชิ้นนี้
โฆษกของเนชันแนล ออสเตโอโพโรซิส โซไซตีในอังกฤษ (National Osteoporosis Society) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการศึกษาชิ้นนี้น่าสนใจตรงที่ทำให้รู้ว่า แม้ผู้หญิงพยายามบริโภคแคลเซียมจากอาหารต่างๆ แต่มวลกระดูกยังถูกทำลายจากการดื่มโคลาเพียงแค่สัปดาห์ละ 4 กระป๋องเท่านั้น
ด้านโฆษกสมาคมน้ำอัดลมอังกฤษ (British Soft Drinks Association ) แสดงความเห็นว่า วิธีป้องกันภาวะกระดูกพรุนที่ดีที่สุดคือ การกินอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม ออกกำลังกายแบบที่มีแรงกดลงต่อกระดูกเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โฆษกสมาคมน้ำอัดลมยังเสริมว่า ขณะนี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ฟอสเฟตที่อยู่ในรูปกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมบางประเภท มีผลกระทบแง่ลบต่อกระดูก นอกจากนั้น น้ำอัดลมยังมีฟอสฟอรัสเจือปนอยู่เพียง 3% เท่านั้น น้อยกว่าซีเรียล นม และผลิตภัณฑ์จากนมหลายเท่า

ซึ่งเอาล่ะ จริงๆแล้วผลการวิจัยของดร.แคเทอรีน ทักเกอร์ (Dr. Katherine L. Tucker)นี่แหละครับ ที่คนชอบเอาไปอ้างว่าดร.แกฟันธงว่าน้ำอัดลมทำกระดูกผุ

หลักฐานและเหตุผล:
แท้ที่จริง ดร.แคเทอรีน ทักเกอร์แกระบุไว้ในเอกสารผลการวิจัยแล้วครับ ว่าAdditional research is needed to confirm these findings”จำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเพื่อยืนยันผลการค้นคว้านี้” แต่พอดีคนไม่ค่อยอ่านครับ เพราะงานทางวิชาการมันไม่มันส์ อ่านแต่ความเห็นที่เขาสรุปมาแล้วเอามาป้อนให้เรา ซึ่งถ้าเขาสรุปถูกก็ดีไปครับ แต่ถ้าผิดนี่สิ…
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ผู้หญิงที่กินน้ำอัดลมมีมวลกระดูกน้อย อาจจะเพราะไม่ค่อยดื่มนม มัวแต่ดื่มน้ำอัดลมก็ได้(ซึ่งถ้าแบบนั้น จะมาโทษน้ำอัดลมไม่ได้ครับ ต้องโทษว่าคนไม่ยอมดื่มนม)

นอกจากชื่อดร.แคเทอรีน ทักเกอร์ที่มักจะนำมาอ้างแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องกรดฟอสฟอริก (phosphoric acid)ที่มีอยู่ในน้ำอัดลม ว่าทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาในปัสสาวะ
เรื่องของเรื่องคือกรดฟอสฟอริกอาจจะทำให้ขับแคลเซียมได้ แต่ปริมาณที่มีในน้ำอัดลมมันแสนจะเล็กน้อยครับ(17mg:100g)เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป เช่นงา(991Mg:100g) เบคอน(591mg:100g)  ปลาแซลมอน (256mg)ฯลฯ

ในเมื่อผลการวิจัยที่ยังไม่สามารถสรุปว่าน้ำอัดลมทำให้กระดูกพรุนแล้ว ยังมีผลการวิจัยอีกตัวหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง คือมีการทดลองให้ไก่กินน้ำอัดลมแล้วเอากระดูกไปทดสอบ พบว่ากระดูกแข็งกว่าไก่ที่กินน้ำประปาธรรมดา…อ้าว!
แต่เอาล่ะ มันเป็นไก่…ก็อย่าเพิ่งไปสรุปอะไรมากก็ได้ครับ แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ

สรุปแล้วทั้งกรดคาร์บอนิก และกรดฟอสฟอริคในน้ำอัดลมมีปริมาณน้อยเกินกว่าจะให้เกิดโรคกระดูกผุได้ ส่วนที่จะเป็นปัญหาอย่างเดียวก็คือน้ำตาลครับ
ซึ่งถ้าพูดถึงน้ำตาล…น้ำผลไม้ น้ำหวานต่างๆก็มีน้ำตาลนะ!

ที่มา:
1.งานวิจัยของดร.แคเทอรีน ทักเกอร์
http://www.icoke.co.th/livepositively/news_detail.aspx?id=56

2.CNN HEALTH สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอาหารDr. Melina Jampolis เกี่ยวกับเรื่องน้ำอัดลม

Is carbonated water safe to drink?

3.การวิจัยไก่กับน้ำอัดลม
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8234140

4.อัตราส่วนฟอสเฟตในโคล่า เผยแพร่โดยโดยบริษัทโคคาโคล่า
http://www.thecoca-colacompany.com/contactus/myths_rumors/packaging_kidney_stones.html

5.อัตราส่วนฟอสเฟตในอาหารทั่วไป
http://healthyeatingclub.com/info/books-phds/books/foodfacts/html/data/data5f.html

ซุปไก่สกัดมีผลการวิจัยสนับสนุน?!?

สาระสำคัญ
ในโฆษณาซุปไก่สกัดยี่ห้อหนึ่ง มักจะมีการเน้นย้ำอยู่เสมอว่ามีผลการวิจัยสนับสนุน

จริงหรือเต้า?

จริง!

เรื่องนี้อาจจะขัดกับความเชื่อของหลายๆคน แต่..ความจริงก็คือความจริงครับ มันมีผลการวิจัยจริงๆ แอดมินก็ต้องว่าไปตามนั้น

หลักฐานและเหตุผล
ในขณะที่นักวิชาการและเวบไซต์หลายๆแห่งให้ความเห็นว่าการดื่มซุปไก่สกัดเพื่อบำรุงนั้นไม่คุ้ม โดยมักจะพูดกันว่ามีสารอาหารสู้ไข่ไก่ยังไม่ได้เลย

แต่จริงๆแล้วถ้าเราไปวิเคราะห์ว่าในซุปไก่สกัดมีสารเคมีชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ ซุปไก่สกัดก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะสาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ปริมาณสารเคมีในซุปฯ แต่มันอยู่ที่ลักษณะทางโมเลกุลของสารครับ
อธิบายง่ายๆ ถ้าเราอยากได้โปรตีน เนื้อไก่ก็คือโปรตีน ไข่ไก่ก็มีโปรตีน คอลลาเจนก็คือโปรตีน เมลามีนก็คือโปรตีน ไวรัสก็คือโปรตีนอีก เราเอาไวรัสมากินแทนโปรตีนไข่ไก่ได้ใหม?…ไม่ได้แน่นอน เพราะถึงเป็นโปรตีนเหมือนกัน แต่คุณสมบัติมันต่างกันมาก
ดังนั้นการจะดูแต่ปริมาณสารเคมีอย่างเดียว ยังตัดสินไม่ได้จ๊ะ และจริงๆทางผู้ผลิตก็ไม่เคยอ้างเลยว่ามันมีสารอาหารครบถ้วนหรือมากน้อยตรงไหน แต่ที่เขาเสนอคือมันช่วยเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง
(เช่นว่า ติวสอบ อ่านหนังสือหนัก ใช้ความคิดมากจนล้า กินซุปไก่สกัดแล้วดีขึ้น ฯลฯ)

…ดังนั้นเรามาดูกันว่ามันช่วยเรื่องความเหนื่อยล้าทางระบบประสาทจริงมั๊ย?
ผลการวิจัยโดยHajime Nagai และคณะ(ในปี1996) โดยให้คนสองกลุ่ม(ที่ไม่เคยกินซุปไก่สกัดมาก่อนเลย) กลุ่มนึงกินซุปไก่จริง อีกกลุ่มหลอกให้กินซุปไก่ปลอม(ทำจากน้ำโปรตีนคอลลาเจน) 7วันแล้วมาทดสอบทำเลขกับทดสอบความจำระยะสั้น พบว่ากลุ่มที่กินซุปไก่จริงทำคะแนนได้ดีกว่าจริงๆ ผลการวิจัยนี้มีเผยแพร่ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพียงแต่เป็นงานทางวิชาการที่ไม่ได้เอาไปfwหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์อะไร คนทั่วไปก็เลยไม่ค่อยรู้
นอกจากนั้นยังมีผลการวิจัยอื่นๆอีกสองสามอย่างเกี่ยวกับประโยชน์ด้านอื่นๆของซุปไก่สกัด แต่พอดีผู้ผลิตไม่ได้เอามาอ้าง ก็ขอละไว้ แต่ถ้าใครอยากอ่านเพิ่ม เชิญเปิดดูตามลิงค์ด้านล่างๆได้จ๊ะ

สรุปแล้ว แอดมินไม่ได้กินซุปไก่สกัด และคงจะไม่กินต่อไป เพราะเห็นว่าแพง แต่ถ้ามีคนซื้อให้ กิน! ส่วนใครจะกินหรือไม่กินยังไง ก็ตามสะดวก แต่ควรพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจ๊ะ

ที่มา

เอกสารเรื่องการศึกษาผลของซุปไก่สกัดต่อความเครียดในสัตว์ทดลองและคน โดยฝ่ายยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย

Click to access chicken%20extract.pdf

The 5th International Symposium on Clinical Nutrition 4-7 Feb 1996 (ดูหัวข้อ65-69)
http://apjcn.nhri.org.tw/server/APJCN/Volume5/vol5.4/vol5n4s2p6.htm

ยาคุมกำเนิดทำให้อ้วน?!?

สาระสำคัญ : ใช้ยาคุมกำเนิดแล้วทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จริงหรือไม่?

จริงหรือเต้า?

เต้า!

เป็นความเชื่อที่แพร่หลายมานานแล้ว ว่าผู้หญิงกินยาคุมกำเนิด(ชื่อทางการเป็นภาษาอังกฤษคือ Combined oral contraceptives)แล้วจะอ้วนขึ้น? เรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงกันมานาน ทั้งในไทยและในต่างประเทศ สิ่งเดียวที่จะตัดสินได้ คือการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ครับ..เออมันน่าจะมีนะ..

หลักฐานและเหตุผล:

การทดลองโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำสามท่านของUSAให้ผลว่า การกินยาคุมกำเนิดไม่ได้มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มแต่อย่างใด(ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากลิงค์ประกอบด้านล่าง)
การที่ผู้หญิงอ้วนขึ้นพร้อมๆกับการกินยาคุมฯ(Combined oral contraceptives)มันมีสาเหตุ เพียงแต่สาเหตุมันไม่ได้อยู่ที่ยาครับ!
ถ้าเราจะสังเกตุให้ดี ผู้หญิงที่กินยาคุมเริ่มกินเมื่อมีแฟน และผู้หญิงหลายคนอ้วนขึ้นเมื่อมีแฟนเหมือนกัน ต่อให้ไม่กินยาคุมก็เถอะ!! เริ่มเห็นอะไรบางอย่างมั๊ยครับ?
จริงๆแล้วเรื่องนี้มีการวิจัยต่อเนื่องเป็นเวลาถึง10ปีที่แสดงผลว่า ผู้หญิงจำนวนมากเริ่มอ้วนขึ้นตอนแต่งงานและมีลูกคนแรกเยอะเลยครับ!!
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วอ้วนขึ้นเป็นเพราะต้องดูแลลูกและสามี จนไม่มีเวลาเอาใจใส่รูปร่าง ไม่มีเวลาไปฟิตเนสเข้าสปา ไม่มีเวลาทำอาหารผอมๆสำหรับตัวเอง (ต้องมาทำสปาเกตตีให้ลูกๆ ทำไก่ทอดให้สามี จะทำสลัดไว้กินเองก็ไม่ทันละ กินด้วยเลยละกัน!)

สำหรับแอดมินแล้ว การกินยาคุมแล้วอ้วน ดีกว่าท้องโดยไม่ได้ตั้งใจเยอะ แต่จะว่าไปนอกจากความอ้วน ..ยาคุมอาจจะมีผลข้างเคียงอย่างอื่นที่ยังไม่มีการวิจัยรึเปล่า อันนี้ไม่รู้ครับ
ถ้าสงสัย ไม่แน่ใจนะครับ ให้คุณผู้หญิงบอกคุณผู้ชายว่า…
“ใส่ถุงเถอะจ๊ะ”

ที่มา

การวิจัยเรื่องน้ำหนักตัวกับยาคุมกำเนิด ตีพิมพ์ในวารสาร Exford Journal เล่ม 26 (ปี2011) ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Oxford
http://humrep.oxfordjournals.org/content/26/2/330.abstract?sid=f5afe1f1-1bd7-4c63-8568-588e46c01c07

การวิจัยของออสเตรเลียเกี่ยวกับน้ำหนักตัวของผู้หญิงที่มีลูกคนแรก ตีพิมพ์โดยAmerican Journal of Preventive Medicine. กพ. 2010
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20117572

ข้อมูลเกี่ยวกัยCombined oral contraceptive pill(ยาคุมฯ) – wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/Combined_oral_contraceptive_pill

Aspartame:กินแอสปาร์แตมแล้วเป็นมะเร็ง?!?

สาระสำคัญ
หลายๆเวบไซต์ลงบทความเตือนผู้บริโภค โดยอ้างอ.ย.ของสหรัฐเตือนว่าแอสปาร์แตมไม่ปลอดภัย และทำให้เกิดโรคมากมายโดยเฉพาะโรคในสมอง เช่นมะเร็งในสมอง, MS., อัลไซเมอร์?!?
จริงหรือเต้า?


เต้า!

หลายสิบปีแล้วที่มีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เช่นไดเอทโคล่าและขนมหลายชนิดที่ใช้สารแอสปาร์แตมแทนน้ำตาลเพื่อเอาใจคนที่ต้องการลดน้ำหนักหรือสำหรับผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงน้ำตาล และก็หลายสิบปีแล้วที่ผู้คน”ได้ยินว่า”น้ำตาลเทียมแอสปาร์แตมไม่ดีต่อสุขภาพและอันตรายกว่าน้ำตาลจริงๆหลายเท่า ตั้งแต่สมัยสงครามโลกจนถึงตอนนี้ข่าวลือนี้ก็แพร่ไปตามเวบไซต์ต่างๆนับไม่ถ้วน แม้แต่เวบไซต์ที่น่าเชื่อถือหลายแห่งก็ยังลงบทความเตือนผู้บริโภคในเรื่องนี้ โดยอ้างคำเตือนจากองค์การอ.ย.ของสหรัฐฯ ทำให้หลายๆคนกลัวและยอมกินน้ำตาลจริงต่อไป

หลักฐานและเหตุผล

จริงๆแล้วอย.ได้ปฏิเสธิถึงการเตือนดังกล่าว โดยเน้นว่า “ยังไม่มีหลักฐานว่าโรคดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการบริโภคแอสปาร์แตมแต่อย่างใด”
จุดเริ่มต้นของข่าวลือกระต่ายตื่นตูมนี้ มาจากการทดลองที่ยืนยันว่าแอสปาร์แตมนั้นปลอดภัย ซึ่งต่อมามีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งออกมาโจมตีงานวิจัยนั้นว่าไม่ได้มาตรฐาน
แต่จริงๆแล้วถ้าจะบอกว่าการทดลองนั้นไม่ได้มาตรฐาน ก็เท่ากับว่าผลการทดลองเป็นโมฆะ …พี่ก็ต้องบอกว่า “ยังสรุปไม่ได้ว่าปลอดภัยรึเปล่า”สิครับพี่!!แล้วพี่ก็ต้องทำการวิจัยออกมาค้านครับ!! ไม่ใช่ผลการทดลองถูกยกเลิกแล้วเอาไปพูดว่า”สรุปว่าอันตรายจริง”…ไม่ใช่แล้วครับ! นี่ยังไม่พูดถึงว่าที่คัดค้านน่ะค้านได้ถูกต้องแค่ไหนด้วยซ้ำ!!
และนอกจากการอ้าง FDAแล้ว ยังมีอีกหลายๆเวบไซต์เตือนอันตรายของแอสปาร์แตม โดยมีการอธิบายหลักการต่างๆยืดยาว แต่เอาเข้าจริงไม่มีผลการวิจัยเช่นกันครับ!!

สรุปแล้ว กินแอสปาร์แตมมากๆทำให้เกิดมะเร็งหรือเปล่า? ยังตอบไม่ได้! ไม่มีหลักฐาน!
แต่ที่แน่ๆ กินน้ำตาลมากๆ อ้วน และเป็นเบาหวาน ชัวร์!

ที่มา
ข้อมูลจากFDAของสหรัฐฯ ที่มีการระบุถึงAspartame ฉบับดั้งเดิม ในปี1996
http://web.archive.org/web/20080221172818/http://www.fda.gov/bbs/topics/ANSWERS/ANS00772.html

ต่อมาเห็นลือกันไม่เลิก FDA.ก็เลยจัดมาอีกสักดอก ในปี2004
http://web.archive.org/web/20080221195645/http://www.cfsan.fda.gov/~dms/wh-alrg1.html

ผลงานวิจัย ม.มหิดล รังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1%เศษ?!?

สาระสำคัญ
หากใครเดินทางโดยใช้ทางด่วนในช่วงนี้(กค. 2011) จะสังเกตุเห็นป้ายที่ด่านเก็บเงิน ใจความว่า “ผลงานวิจัย ม.มหิดล รังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1%เศษ”
สรุปแล้ว ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล มีรังนกยี่ห้อดังยี่ห้อใดใส่รังนกแท้แค่1%เศษๆ ?!?

จริงหรือเต้า?

เต้า!

สงครามโฆษณาของวงการรังนกและซุปไก่สกัด มักจะกล่าวหากันแรง และหลายครั้งก็จะพูดลอยๆโดยไม่ระบุว่ากล่าวหายี่ห้อใด ทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องได้ง่ายๆ ก็แค่ประชาชนที่บริโภคสื่อคิดไปเอง
และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลยุทธ์แบบนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้ง

หลักฐานและเหตุผล
ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศผ่านเวบไซต์ของทางมหาลัยว่า
จากกรณีที่มีป้ายโฆษณาว่า “ผลงานวิจัย ม.มหิดล รังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1%เศษ” ติดตั้งบริเวณก่อนเข้าช่องจ่ายเงินทางด่วนหลายแห่งในเขตกรุงเทพมหานครนั้น

รองศาสตราจารย์พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลไม่เคยทำการวิจัยในเรื่องสัดส่วนหรือปริมาณรังนกแท้ในรังนกสำเร็จรูปพร้อมบริโภค ซึ่งรังนกสำเร็จรูปพร้อมบริโภคที่วางจำหน่ายโดยทั่วไป จะมีการแจ้งปริมาณรังนกแท้ไว้ที่ข้างบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยทำการวิเคราะห์สารอาหารของรังนกสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาด ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการเท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับไข่ไก่ หรือนม การวิเคราะห์งานคุณค่าทางโภชนาการดังกล่าว เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนบนพื้นฐานงานวิชาการ ทั้งนี้การตัดสินใจจะเลือกบริโภคจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริโภคเอง

เพราะฉะนั้นตามที่มีการติดป้ายโฆษณาข้อความดังกล่าว จึงเป็นการอ้างชื่อมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

 

 

 

ที่มา

http://www.mahidol.ac.th/muthai/latest54/health_133.htm