GAS!:กรดในน้ำอัดลมทำให้กระดูกผุ!?!

สาระสำคัญ: ภาวะกรดที่มีอยู่ในน้ำอัดลม ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน?!?
จริงหรือเต้า?


เต้า!

เป็นเวลาหลายปีแล้ว(ก่อนที่เวบไซต์นี้จะเกิด)ที่มีข่าวลือในโลกออนไลน์ ว่าการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ ทำให้กระดูกพรุนเพราะกรดในน้ำอัดลม ซึ่งต้นตอเกิดจากการอ้างผลการวิจัยแต่เพียงผิวเผินและเข้าใจผิด จากนั้นก็เอาไปลือกันต่อๆไปเรื่อยๆโดยไม่หาข้อมูลประกอบแต่อย่างใด
เช่นโพสหนึ่งในอินเตอร์เนต

กรดฟอสฟอริกที่มักใส่เข้าไปในเครื่องดื่มพวกโคลา ผลการศึกษารายงานว่าหากอัตราส่วนของฟอสฟอรัสต่อแคลเซียมมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากค่าฟอสฟอรัสสูงขึ้นจะทำให้กระดูกเสียหายตลอดเวลา
 ระดับแคลเซียมที่ต่ำสัมพันธ์กับโรคกระดูกพรุน ทำให้กระดูกบางลงมากเสี่ยงต่อการแตกหัก สมาพันธ์โรคกระดูกพรุนนานาชาติ รายงานว่า กว่าครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันโดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้น
โรคกระดูกพรุน คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูก ไม่สามารถจะรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการกระดูก หักตามมา

หรืออีกโพสหนึ่ง คราวนี้มีการอ้างผลการวิจัยด้วย ทำให้แอดมินเข้าไปดูรายละเอียดและต้องรีบนำมาเขียนบทความนี้เลยทีเดียว(จริงๆแล้วผมว่าโพสนี้เขียนวกไปวนมา เดี๋ยวบอกว่ามีผลการวิจัย เดี๋ยวบอกว่านักวิจัยยังไม่มีหลักฐาน เดี๋ยวบอกว่าควรหลีกเลี่ยงฯลฯ แต่ประเด็นคือเล่นตั้งหัวเรื่องไว้ว่า “เตือนสาวๆ ที่ชอบดื่มโคลาเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน” คือเหตุผลยังมึนๆอยู่เลยครับ แต่เที่ยวไปเตือนชาวบ้านแล้ว

เอเจนซี – เตือนสาวๆ ที่ชอบดื่มโคลาเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน นักวิจัยระบุสาเหตุอาจมาจากกรดฟอสฟอริกที่มีในน้ำดำ แต่ไม่พบในน้ำอัดลมส่วนใหญ่
ในการศึกษาประชากรวัยผู้ใหญ่กว่า 2,500 คน ดร.แคเทอรีน ทักเกอร์ (Dr. Katherine L. Tucker) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) ในบอสตัน สหรัฐฯ พบว่าผู้หญิงที่ดื่มโคลาทุกวันมีความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density – BMD) ในสะโพกน้อยกว่าผู้หญิงที่เดือนหนึ่งแทบไม่ได้ดื่มน้ำอัดลมประเภทน้ำดำนี้เลย 5%
“เนื่องจากบีเอ็มดีมีความเกี่ยวพันแน่นแฟ้นกับความเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหัก และเนื่องจากโคลาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อประเด็นสาธารณสุข” นักวิจัยระบุในรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารอเมริกัน เจอร์นัล ออฟ คลินิคัล นิวทริชัน (American Journal of Clinical Nutrition)
จากการศึกษาวัยรุ่นหญิงพบความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำกับการแตกหักของกระดูกและการลดลงของบีเอ็มดี กระนั้น นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุอาจมาจากวัยรุ่นเหล่านี้ดื่มนมน้อยลง หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของน้ำอัดลมเอง
เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ในประชากรวัยผู้ใหญ่ นักวิจัยได้วัดบีเอ็มดีในกระดูกสันหลังและสะโพกของอาสาสมัครหญิง 1,413 คน และอาสาสมัครชาย 1,125 คน อายุประมาณ 60 ปี ที่เข้าร่วมในโครงการศึกษาภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis)
ขณะที่ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างน้ำอัดลมโดยรวมกับบีเอ็มดี แต่นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่ดื่มโคลามากที่สุดมีบีเอ็มดีในสะโพกน้อยมาก และยิ่งดื่มน้ำอัดลมประเภทนี้มากเท่าไหร่ เนื้อกระดูกยิ่งลดลง และความเกี่ยวพันนี้ครอบคลุมทั้งโคลาปกติ โคลาปลอดคาเฟอีน และไดเอ็ตโคลา
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำอัดลมสีดำไม่ส่งผลต่อบีเอ็มดีในผู้ชาย
แม้ว่าผู้หญิงที่ดื่มโคลาเป็นประจำ ไม่ได้ดื่มนมน้อยลงเลย แต่บริโภคแคลเซียมน้อยลง ทำให้ได้ฟอสฟอรัสน้อยลงไปด้วย แม้ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงสาเหตุของเรื่องนี้ แต่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ในโคลามีกรดฟอสฟอริก (phosphoric acid) ซึ่งไม่พบในน้ำอัดลมส่วนใหญ่ และกรดนี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายขับแคลเซียมออกจากกระดูก

นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การดื่มน้ำอัดลม ซึ่งรวมถึงโคลา เป็นครั้งคราว ทำให้เนื้อกระดูกลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่กังวลกับภาวะกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยงการดื่มโคลาเป็นประจำ จนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมที่สามารถนำมาหักล้างการวิจัยชิ้นนี้
โฆษกของเนชันแนล ออสเตโอโพโรซิส โซไซตีในอังกฤษ (National Osteoporosis Society) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการศึกษาชิ้นนี้น่าสนใจตรงที่ทำให้รู้ว่า แม้ผู้หญิงพยายามบริโภคแคลเซียมจากอาหารต่างๆ แต่มวลกระดูกยังถูกทำลายจากการดื่มโคลาเพียงแค่สัปดาห์ละ 4 กระป๋องเท่านั้น
ด้านโฆษกสมาคมน้ำอัดลมอังกฤษ (British Soft Drinks Association ) แสดงความเห็นว่า วิธีป้องกันภาวะกระดูกพรุนที่ดีที่สุดคือ การกินอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม ออกกำลังกายแบบที่มีแรงกดลงต่อกระดูกเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โฆษกสมาคมน้ำอัดลมยังเสริมว่า ขณะนี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ฟอสเฟตที่อยู่ในรูปกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมบางประเภท มีผลกระทบแง่ลบต่อกระดูก นอกจากนั้น น้ำอัดลมยังมีฟอสฟอรัสเจือปนอยู่เพียง 3% เท่านั้น น้อยกว่าซีเรียล นม และผลิตภัณฑ์จากนมหลายเท่า

ซึ่งเอาล่ะ จริงๆแล้วผลการวิจัยของดร.แคเทอรีน ทักเกอร์ (Dr. Katherine L. Tucker)นี่แหละครับ ที่คนชอบเอาไปอ้างว่าดร.แกฟันธงว่าน้ำอัดลมทำกระดูกผุ

หลักฐานและเหตุผล:
แท้ที่จริง ดร.แคเทอรีน ทักเกอร์แกระบุไว้ในเอกสารผลการวิจัยแล้วครับ ว่าAdditional research is needed to confirm these findings”จำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเพื่อยืนยันผลการค้นคว้านี้” แต่พอดีคนไม่ค่อยอ่านครับ เพราะงานทางวิชาการมันไม่มันส์ อ่านแต่ความเห็นที่เขาสรุปมาแล้วเอามาป้อนให้เรา ซึ่งถ้าเขาสรุปถูกก็ดีไปครับ แต่ถ้าผิดนี่สิ…
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ผู้หญิงที่กินน้ำอัดลมมีมวลกระดูกน้อย อาจจะเพราะไม่ค่อยดื่มนม มัวแต่ดื่มน้ำอัดลมก็ได้(ซึ่งถ้าแบบนั้น จะมาโทษน้ำอัดลมไม่ได้ครับ ต้องโทษว่าคนไม่ยอมดื่มนม)

นอกจากชื่อดร.แคเทอรีน ทักเกอร์ที่มักจะนำมาอ้างแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องกรดฟอสฟอริก (phosphoric acid)ที่มีอยู่ในน้ำอัดลม ว่าทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาในปัสสาวะ
เรื่องของเรื่องคือกรดฟอสฟอริกอาจจะทำให้ขับแคลเซียมได้ แต่ปริมาณที่มีในน้ำอัดลมมันแสนจะเล็กน้อยครับ(17mg:100g)เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป เช่นงา(991Mg:100g) เบคอน(591mg:100g)  ปลาแซลมอน (256mg)ฯลฯ

ในเมื่อผลการวิจัยที่ยังไม่สามารถสรุปว่าน้ำอัดลมทำให้กระดูกพรุนแล้ว ยังมีผลการวิจัยอีกตัวหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง คือมีการทดลองให้ไก่กินน้ำอัดลมแล้วเอากระดูกไปทดสอบ พบว่ากระดูกแข็งกว่าไก่ที่กินน้ำประปาธรรมดา…อ้าว!
แต่เอาล่ะ มันเป็นไก่…ก็อย่าเพิ่งไปสรุปอะไรมากก็ได้ครับ แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ

สรุปแล้วทั้งกรดคาร์บอนิก และกรดฟอสฟอริคในน้ำอัดลมมีปริมาณน้อยเกินกว่าจะให้เกิดโรคกระดูกผุได้ ส่วนที่จะเป็นปัญหาอย่างเดียวก็คือน้ำตาลครับ
ซึ่งถ้าพูดถึงน้ำตาล…น้ำผลไม้ น้ำหวานต่างๆก็มีน้ำตาลนะ!

ที่มา:
1.งานวิจัยของดร.แคเทอรีน ทักเกอร์
http://www.icoke.co.th/livepositively/news_detail.aspx?id=56

2.CNN HEALTH สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอาหารDr. Melina Jampolis เกี่ยวกับเรื่องน้ำอัดลม

Is carbonated water safe to drink?

3.การวิจัยไก่กับน้ำอัดลม
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8234140

4.อัตราส่วนฟอสเฟตในโคล่า เผยแพร่โดยโดยบริษัทโคคาโคล่า
http://www.thecoca-colacompany.com/contactus/myths_rumors/packaging_kidney_stones.html

5.อัตราส่วนฟอสเฟตในอาหารทั่วไป
http://healthyeatingclub.com/info/books-phds/books/foodfacts/html/data/data5f.html